คุณพ่อคุณแม่คงเข้าใจถึงความสำคัญของ quality time ที่เราใช้กับลูกกันเป็นอย่างดีนะคะ เรามี quality time ครั้งสุดท้ายกันนานแค่ไหนแล้วคะ วันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะว่าเวลา quality time ทำได้ไม่ยาก ต่ายได้ลองใช้วิธีนี้ดูแล้ว work ค่ะ
.
ได้มีโอกาสฟัง ครูหม่อม ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษกร ผู้เชี่ยวชาญ EF เบอร์ต้นๆ ในเมืองไทย เล่าเรื่องการจัดเวลาคุณภาพให้ฟังดังนี้ค่ะ
.
เราสามารถจัดเวลาคุณภาพกับลูกได้ดังนี้ค่ะ เวลาคุณภาพ คือ เวลาที่เราอยู่กันสองต่อสอง คือ มีกันแค่สองคน เช่น พ่อกับลูก แม่กับลูก ไม่ใช่พ่อแม่กับลูกนะคะ และ หากมีลูกหลายคน จะเป็นพ่อกับลูกคนที่ 1 และ พ่อกับลูกคนที่ 2 ไม่ใช่ พ่อกับลูกทุกคนพร้อมกันนะคะ และที่สำคัญคือ เวลาของพ่อกับแม่ค่ะ เรามีเวลาส่วนตัวกับคู่ชีวิตของเราครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่คะ
.
ช่วงเวลาคุณภาพนี้ เราจะให้ลูกนำกิจกรรมค่ะ บอกลูกเลยอยากเล่นอะไร อยากทำอะไร ให้ลูกบอกได้เลย และกิจกรรมนี้จะต้องไม่ใช่กิจกรรมที่ทำเป็นกิจวัตประจำวันอยู่แล้ว เช่น ไม่ใช่เวลาทำการบ้าน หรือหากต่อเลโก้กันทุกวันก่อนนอนอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่กิจกรรมแบบนี้ค่ะ
.
ตลอดช่วงเวลาคุณภาพนี้ ให้เราให้ความสนใจ 100% กับลูกค่ะ ถ้าจะให้ดีไม่เอามือถือเข้าไปด้วยเลยค่ะ ทำกิจกรรมกับลูกค่ะ ช่วงนี้ลองสังเกตลูกไปด้วยนะคะ ลูกจะได้ฝึกทักษะอารมณ์ ทักษะสังคม ฝึกการมีสมาธิให้หยุดฟัง ถ้าลูกชวนเล่นเกมก็เล่นกับลูกให้ลูกแพ้บ้างชนะบ้างนะคะ
.
สำหรับระยะเวลา จากผลการวิจัยควรเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาทีค่ะ จะมากกว่านี้ก็ได้ อาจจะเล่นติดพัน
.
ช่วงเวลาคุณภาพนี้จะเป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับลูก ให้ลูกรู้สึกว่ามีตัวตน เป็นอาหารใจ เมื่อได้มีช่วงเวลานี้อยู่เรื่อย ๆ ลูกจะอิ่มใจ ลูกจะเผื่อแผ่และรอคอยได้ และสำหรับบ้านที่มีพี่น้อง ช่วงเวลานี้จะช่วยลดความอิจฉาระหว่างพี่น้องได้ค่ะ
.
จริง ๆ ครูหม่อมแนะนำให้หาเวลาคุณภาพทุกวันค่ะ และเวลาคุณภาพนี้ยังจัดสรรให้กับคุณพ่อคุณแม่ (หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของลูกเรา) ได้ก็จะดีมากเลยนะคะ ครั้งสุดท้ายที่เรามีเวลาคุณภาพกับท่าน คือ เมื่อไหร่คะ ลองคิดดูว่าถ้าเราได้มีเวลาคุณภาพกับท่านสม่ำเสมอ ท่านคงตั้งตารอที่จะได้ใช้เวลากับเราค่ะ
.
สำหรับบ้านต่ายมีลูก 2 คน ก็จะพยายามหาเวลาที่พ่อกับแม่ว่างตรงกัน 1 ชั่วโมง แล้วครึ่งชั่วโมงแรกแม่อยู่กับลูกคนที่ 1 พ่ออยู่กับลูกคนที่ 2 แล้วครึ่งชั่วโมงหลังก็สลับกัน ซึ่งจะอยู่กันคนละห้องนะคะ ลองทำได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ลูกชอบมากค่ะ ถามบ่อยๆ วันนี้จะมี quality time ไหม
.
ครูหม่อมยังบอกอีกค่ะ ว่าถ้าเรามีช่วงเวลาแบบนี้กับลูกตั้งแต่เด็ก เมื่อเค้าโตขึ้น จากเวลาที่เค้าใช้เล่นกับเราก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเวลาที่เค้ามาขอพูดคุย ปรึกษาเราแทนค่ะ เราเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้ให้เค้า ให้เค้ารู้ว่าเมื่อไหร่เค้าต้องการเค้าจะได้เวลาจากเราเสมอค่ะ
.
สรุป 4 ข้อ สำหรับการสร้างช่วงเวลาคุณภาพนะคะ
1. เวลาสองต่อสอง
2. ให้ลูกเป็นคนเลือกกิจกรรม
3. เราสนใจคนที่เราอยู่ด้วย 100%
4. ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที
ลองไปปรับใช้ที่บ้านกันดูนะคะ ได้ผลอย่างไรมาแชร์ให้ฟังกันบ้างนะคะ
留言