ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ ต่ายรู้สึกว่าชีวิตตัวเองบางมุมก็มีความทุกข์ระทม แต่หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกดีใจที่เกิดที่เมืองไทย
.
หนังสือเล่มนี้ชื่อ ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ คิมจียอง เป็นชื่อขอโหลของผู้หญิงเกาหลี (ถ้าเป็นผู้ชายไทยยุคนึงคงอารมณ์ประมาณ สมชาย แซ่ตั้ง) จียองเกิดปี 1982 ตอนที่หนังสือเล่มนี้วางแผงครั้งแรกคือปี 2016 จึงอนุมานว่า จียองเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เกิดยุค 90 อายุ 34 ปี
.
หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นการเล่าเรื่องชีวิตของผู้หญิงในเกาหลี ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้เป็นอย่างดี ผู้หญิงเกาหลีหลาย ๆ คนที่ได้อ่านคงรู้สึกได้เลยว่าเหมือนชีวิตของพวกเธอมาก ๆ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมที่พวกเธอได้ถูกเลี้ยงดูมา ได้เติบโตขึ้นมาจนรู้สึกว่ามันไม่ได้ผิดปกติอะไร
.
ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่อัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิดขาดสมดุลอย่างมาก มีการทำแท้งทารกเพศหญิง สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่จะหมายถึงในครอบครัวพ่อจะเป็นใหญ่ที่สุด รองลงมาคือลูกชาย แล้วค่อยตามด้วยแม่ ลูกสาวจะมีลำดับความสำคัญน้อยที่สุด ลูกชายจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีกว่าลูกสาว ได้เลือกทานอาหารก่อน ได้มีโอกาสเรียนสูง ๆ
.
สมัยแม่ของจียอง แม่กับพี่สาวต้องออกมาทำงานในโรงงานตั้งแต่อายุ 15 เพื่อส่งเสียให้พี่ชายและน้องชายได้เรียนหนังสือ แม่จะเล่าให้เพื่อนที่โรงงานฟังอย่างภาคภูมิในว่าส่งเงินให้พี่น้องผู้ชายได้เรียนจนได้เป็นหมอ ตำรวจ และครู แต่เมื่อพี่น้องผู้ชายมีงานการดี ๆ ทำ ก็ไม่เคยจะกลับมาส่งเสียแม่หรือพี่สาวบ้าง
.
ผู้หญิงในเกาหลีในยุคของจียอง เมื่อแต่งงานและมีลูกก็มักจะต้องออกจากงานมาเลี้ยงดูลูกและดูแลบ้าน ด้วยสภาพการทำงานที่หนัก แม้แต่องค์กรเองก็ให้โอกาสผู้ชายได้เติบโตมากกว่าผู้หญิงแม้ว่าบางกรณีผู้หญิงจะเก่งกว่าก็ตาม เพราะมองว่าอย่างไรเสียผู้หญิงก็จะต้องแต่งงานมีลูกก็ต้องลาคลอดหรือส่วนมากก็จะลาออกไปเลย
.
ในกลุ่มประเทศองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่เกาหลีใต้เป็นสมาชิกอยู่ เกาหลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเงินเดือนชายหญิงมากที่สุด หมายความว่าถ้าหากในตำแหน่งเดียวกันผู้ชายจะได้เงินเดือนสูงกว่าผู้หญิงมาก
.
ตอนที่ต่ายทำงานเกี่ยวกับการหาข้อมูลในองค์กรเพื่อตอบคำถาม DJSI (Dow Jones Sustainability Indices ซึ่งเป็นดัชนีความยั่งยืนที่องค์กรชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมรับการประเมิน) จะมีคำถามที่เกี่ยวกับ gender equality ทั้งเรื่องจำนวนผู้หญิงผู้ชายในแต่ละระดับโดยเฉพาะในผู้บริหารระดับสูง หรือเงินเดือนของผู้หญิงและผู้ชายในตำแหน่งเดียวกัน สำหรับองค์กรไทยหรือองค์กรต่างชาติในไทยที่ต่ายเคยทำงานด้วย เรื่องเงินเดือนมักจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะไม่มีการแบ่งเงินเดือนตามเพศ แต่เรื่องผู้ริหาร อาจจะมีความแตกต่างบ้างแต่ไม่มากเท่าเกาหลีอย่างแน่นอน
.
ผู้หญิงเก่งหลายคนไม่สามารถทำงานที่ตัวเองรักและมีความสามารถต่อได้ ต้องทิ้งความฝัน ทิ้งงานที่อยากทำ และสังคมในที่ทำงานเพื่อมาดูแลลูกและครอบครัว หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงถูกกระทำก็มักจะถูกมองว่า แต่งตัวไม่เหมาะสม หรือไปยั่วยวนผู้ชาย ไม่ได้มองว่าเป็นความผิดของผู้ชาย
.
ในประเทศไทยต่ายไม่ได้รู้สึกถึง gender inequality เท่ากับที่อ่านจากหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งวัฒนธรรมเราก็เปิดรับเรื่องเพศสภาพที่หลากหาย LGBT มากกว่าในหลาย ๆ ประเทศ นี่ก็เป็นเหตุผลที่ต่ายเขียนตั้งแต่แรกเลยค่ะว่าดีใจที่เกิดที่เมืองไทยในฐานะของแม่ที่ลูกสาวค่ะ
Comments