top of page
Search
  • Writer's pictureCoachTai Musicparent

Ep.347 จัดบ้านด้วยการจัดใจ


ตอนแรกที่หยิบหนังสือเล่มนี้มาไม่แน่ใจว่าเป็น fiction หรือ non-fiction ต่ายได้อ่านปกหลังก็สนใจ ที่ปกหลังเขียนว่า ‘คนที่เก็บกวาดห้องให้เรียบร้อยไม่ได้คือคนที่มีปัญหาทางใจ’ ต่ายอ่านรวดเดียวจบเพราะวางไม่ลงค่ะ (ตื่นเช้ามาตาเป็นแพนด้าไปเรียบร้อย) ในเรื่องตัวละครหลักคือ คุณโทมาริ ซึ่งเป็นนักจัดบ้านและช่วยจัดใจด้วย ในหนังสือมี 4 เคสลูกค้าของคุณโทมาริ

.

เคสแรกเป็นพนักงาน office อายุ 32 ที่ห้องรกมากจนแทบจะไม่มีทางเดิน เปิดหน้าต่างไม่ได้ เข้ามามีกลิ่นขยะเปียก เพราะซื้อของตามอารมณ์ เคสนี้เจ้าของห้องรอจะแต่งงานกับแฟนที่ขอแต่งงานแล้วมา 5 ปี แต่แฟนก็ยังไม่หย่ากับภรรยาคนปัจจุบัน และเพิ่งค้นพบว่าแฟนก็ไปจีบเด็กที่เข้ามาทำงานอีก งานนี้คุณโทมาริช่วยจัดใจด้วยการช่วยให้ยอมรับความจริงและตัดใจ รวมทิ้งของที่ทำให้นึกถึง ก็ทำให้ผู้หญิงคนนี้จิตใจดีขึ้นและห้องก็สะอากมาขึ้น

.

เคสที่สอง เป็นช่างทำปลาไม้ อายุหกสิบกว่าซึ่งเพิ่งเสียภรรยาไป ก็ไม่ยอมทำอะไร วัน ๆ ก็นั่งเหม่อ ต้องให้ลูกสาว ซึ่งเป็นคุณแม่ของลูกชายวัยมัธยมปลาย มาช่วยทำงานบ้าน ทำกับข้าวให้ทุกวัน ซึ่งลูกสาวก็มีปัญหาเรื่องลูกชายที่ไม่อยากไปโรงเรียน ลูกสาวก็รู้สึกว่ามีภาระหนักมากจึงจ้างคุณโทมาริมาช่วยจัดบ้าน งานนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ช่างทำปลาไม้กลับมามีชีวิตชีวา รับผิดชอบงานบ้านและงานที่ต้องทำ ยังช่วยจัดใจลูกชายมัธยมให้อยากกลับไปเรียนหนังสือด้วย

.

เคสที่สามเป็นเศรษฐีนีวัยเจ็ดสิบกว่าที่อยู่ที่คฤหาสน์คนเดียว เคสนี้บ้านสะอาดเรียบร้อยมาก แต่ในตู้ต่าง ๆ เต็มไปด้วยของที่ซื้อเผื่อไว้ เผื่อว่าลูกหลานจะมาเยี่ยม หรือซื้อตอนลดราคา หรือเมื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่แล้วก็ไม่ยอมทิ้งอันเก่า ลูกสาวส่งคุณโทมาริมา เพราะอยากให้แม่ทิ้งของไปบ้าง

.

อ่านเคสนี้ทำให้รู้ว่าการทิ้งของที่ญี่ปุ่นนี่ไม่ง่าย และต้องจ่ายค่าทิ้งของ ในเคสนี้เล่าถึงบ้านใกล้ ๆ ที่เจ้าของบ้านเป็นผู้สูงอายุแล้วอาศัยอยู่คนเดียว พอเสียชีวิตลงลูกก็ต้องเสียค่านำของในบ้านไปทิ้งหลายแสนบาท

.

ทำให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มที่เคยอ่าน Death Cleaning ของ Margareta Magnusson คนเขียนเป็นชาวสวีเดน คนสูงอายุชาวสวีเดนพยายามจะมีของส่วนตัวให้น้อยที่สุด เผื่อว่าถ้าเสียชีวิตไปจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานที่ไม่รู้ว่าควรจะจัดการกับของเหล่านี้อย่าไร สิ่งไหนที่อยากจะยกให้ใคร หรือบริจาคก็จัดการตั้งแต่ตอนมีวิตอยู่ ส่วนข้าวของอื่น ๆ ก็มีการแปะฉลากไว้ว่าถ้าเสียชีวิตแล้วจะให้ลูกหลานทำอย่างไร เช่น ยกให้ใคร ให้นำไปขาย หรือนำไปบริจาค หลักการก็คือจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานในการจัดการของเหล่านี้

.

ส่วนเคสสุดท้ายเป็นคุณแม่ลูกสามที่ลูกชายคนโตเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เมื่อลูกเสียชีวิต คุณแม่ก็เสียสูญไปด้วย ไม่ทำงานบ้าน ไม่ดูแลลูกอีกสองคน ทำความสะอาดแต่ห้องของลูกชายที่ตายไปแล้ว คุณโทมาริช่วยจัดใจ โดยการให้ได้พบและพูดคุยกับคุณแม่คนอื่นที่เสียลูกจากเหตุการณ์เดียวกัน คนที่เป็นพ่อแม่ไม่มีวันที่จะก้าวข้ามการที่ลูกเสียชีวิตไปได้ คำปลอบโยนหลายอย่างไม่ได้ช่วย แต่ยังย้ำบาดแผล การที่ได้คุยกับคนหัวอกเดียวกันก็ช่วยให้ทำใจได้ (แน่นอนว่าเคสนี้ต่ายอ่านไปก็น้ำตาท่วมหมอน!)


ต่ายได้อ่านหนังสือจัดบ้านมาบ้านทั้งเล่มยอดฮิต ของ คนโดะ มาริเอะ ชื่อหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว และ Death Cleaning ของ Margareta Magnusson สองเล่มนี้เป็น non-fiction ที่แนะแนวทางการจัดบ้านจริง ๆ ส่วนเล่มนี้เป็น fiction ค่ะ แต่ก็ให้แรงบันดาลใจที่อยากจะลุกขึ้นมาทิ้งของ จัดบ้าน และอยากถามตัวเองว่าที่บ้านเรารกนี่เพราะปัญหาทางใจหรือเปล่า ชอบ concept จัดใจเพื่อจัดบ้านค่ะ




Comments


bottom of page