มรดกชีวิต
มรดกอะไรที่เราจะส่งต่อให้ลูก ถ้าไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง
นอกเหนือจากทรัพย์สินเงินทองแล้วเราเตรียมอะไรให้เป็นมรดกสำหรับลูกของเราคะ ต่ายเคยถามคำถามนี้กับตัวเองมานานแล้ว แล้วก็ตอบตัวเองว่า สิ่งนึงที่อยากส่งต่อแน่ ๆ คือ ประสบการณ์ ความรู้ของเรา อย่างน้อย ๆ ก็จาก learning ของเรา ที่ลูกจะไม่ต้องผิดซ้ำกับที่เราเคยผิด ซึ่งต่ายเองก็มีการจดบันทึก learning เหล่านี้ไว้ให้ลูกค่ะ ส่วนเค้าจะอ่านหรือไม่ก็แล้วแต่เค้าค่ะ
.
ต่ายได้มีโอกาสทำ exercise ชื่อ Family Map เป็นการสำรวจคนใกล้ชิดที่มีอิทธิพลกับเรา หลัก ๆ ก็จะเป็น พ่อแม่ และพี่น้องของเรา หรือคนเลี้ยงดูเราอย่างใกล้ชิดคนอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลกับการเติบโตมาของเรา โดยให้ย้อนความทรงจำกลับไปช่วงก่อนอายุ 18 ปี (เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องพึ่งพิงผู้เลี้ยงดูอยู่) แล้วย้อนกลับไปดูข้อมูล bio ต่าง ๆ เช่น ชื่อ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา ภูมิลำเนา ระดับการศึกษา อาชีพ โรคประจำตัว งานอดิเรก ของแต่ละคน คำถามที่ต่ายชอบคือ สิ่งที่เราชอบ และ สิ่งเราที่ไม่ชอบเกี่ยวกับคนนั้น 3 อย่าง จากนั้นให้เราทบทวนความสัมพันธ์ของเรากับแต่ละคนว่าเป็นความสัมพันธ์แบบไหนใน 4 รูปแบบ: ยึดติด ขัดแย้ง ห่างเหิน ปกติ ซึ่งสำหรับความสัมพันธ์กับคนหนึ่งอาจจะมีมากกว่า 1 ประเภทได้
.
จากนั้นก็ชวนสำรวจตอนที่เราเป็นเด็ก (อายุไม่เกิน 18 ปี) ความสัมพันธ์กับสมาชิกแต่ละคนเป็นอย่างไร สำรวจถึงกฎของครอบครัว เช่น ห้ามกลับบ้านเกินกี่โมง ลูกทุกคนต้องช่วยทำงานบ้าน แล้วก็คุณค่าของครอบครัว เช่น ให้ความสำคัญกับเวลา ความกตัญญู และลองตอบคำถามว่า เราถูกสอนให้จัดการอารมณ์อย่างไร ใครมีอำนาจสูงสุดในครอบครัว ความใกล้ชิดสนิทสนมถูกแสดงออกอย่างไร พ่อแม่คาดหวังอะไรจากท่าน ท่านคาดหวังอะไรจากพ่อแม่
.
แล้วก็จะเป็นคำถามที่ให้คิดสำหรับปัจจุบันว่า มีอะไรที่ยังติดค้างอยู่ในใจเกี่ยวกับครอบครัว ท่านชื่นชมอะไรในครอบครัวบ้าง และมีอะไรที่อยากจะ ขอบคุณ เก็บไว้ส่งต่อ ปรับเปลี่ยน คืนกลับไป ให้อภัย
.
จากการทำกิจกรรมนี้ ทำให้ต่ายเองได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีหลายอย่างที่ต่ายได้รับมาจากครอบครัว ทั้ง value นิสัย พื้นอารมณ์ ฯลฯ ได้สำรวจตัวเองว่าชอบไม่ชอบอะไรใจตัวเอง และได้ตระหนักว่าเราสามารถเลือกส่งต่อและไม่ส่งต่ออะไรให้ลูก (ส่วนลูกจะรับหรือไม่ก็เป็นส่วนของเค้า) เพื่อตระหนักได้เช่นนี้ก็ทำให้มี awareness ในการใช้ชีวิตและเลี้ยงลูกมากขึ้นค่ะ
Comentários