top of page
Search
  • Writer's pictureCoachTai Musicparent

Ep.214 เสียงดนตรีกับคุณแม่และลูกในท้อง


ต่ายได้มีโอกาสไปคุยกับคุณปลาในรายการ Mom&Mouth, podcast ของ ThaiPBS อีกครั้งค่ะ Ep. นี้สำหรับคุณแม่ท้อง และท่านที่วางแผนที่จะมีลูกค่ะ มาดูสรุปประเด็นสำคัญกันนะคะ

.

คุณแม่ท้องฟังเพลงหรือเล่นดนตรีส่งผลดีกับคุณแม่และลูกในท้อง สำหรับคุณแม่ที่เล่นดนตรี เราสามารถเลือกเพลงคุณภาพ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อรสนิยมการฟังเพลงของลูกในอนาคต และลูกจะจำเสียงเครื่องดนตรีที่เราเล่นได้ เมื่อโตขึ้นก็อาจจะอยากเล่นดนตรีเครื่องเดียวกับที่คุณแม่เคยเนให้ฟังตอนเค้าอยู่ในท้อง

.

สำหรับคุณแม่ที่ฟังเพลงก็ช่วยปรับอารมณ์ เช่น เวลาเราหงุดหงิด เราได้ฟังเพลงที่ชอบเราก็จะอารมณ์ดีขึ้น การที่ดนตรีช่วยปรับอารมณ์นี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะคุณแม่ท้องนะคะ แต่ช่วยได้กับทุกคนเลยค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องความสุขสามารถส่งถึงลูกในท้องได้ค่ะ

.

ตอนต่ายท้องก็ทั้งเล่นและฟังดนตรีเพราะยังสอนเปียโนอยู่ ลูกก็ได้ฟังไปด้วย พอลูกออกมาเค้าคุ้นเคยกับเสียงเปียโน เป็นเสียงที่ช่วยให้เค้า calm down ได้ค่ะ

.

เสียงคุณพ่อคุณแม่ที่พูดกับเค้าตั้งแต่อยู่ในท้องเค้าก็จำได้ คุณปลาเล่าประสบกรณ์ว่ามีคุณแม่ที่เป็นคุณครูท้องและมีลูก พอลูกออกมาแล้ว ถ้างอแงอยู่แล้วได้ยินเสียงเพลงชาติจะหยุดงอแงเลย เพราะได้ยินเสียงเพลงนี้ทุกวันตั้งแต่อยู่ในท้อง

.

สำหรับมุมดี ๆ ของดนตรีที่ส่งไปถึงคุณแม่ นอกจากจะช่วยปรับอารมณ์แล้วยังส่งผลถึงสุขภาพ ช่วยให้ความดันโลหิตลด

.

ดนตรีบำบัด ช่วยลดความเจ็บปวด คุณแม่ท้องจะเลือกเพลงที่คุณแม่ชอบมาก่อนคลอดแล้วนักดนตรีบำบัดจะแบ่งเพลงตามจังหวะ ช้า ปานกลาง เร็ว และคุณแม่ก็จะฝึกการหายในตามจังหวะเพลงกับนักดนตรีบำบัด สำหรับคุณแม่ที่ตั้งใจจะคลอดเองตามธรรมชาติ ช่วยลดความเจ็บปวดค่ะ

.

เสียงดนตรีกับประโยชน์ที่ลูกในท้องจะได้ หูของลูกพัฒนาตั้งแต่ 4-9 สัปดาห์ ในท้อง พออายุ 18 สัปดาห์จะเริ่มได้ยินเสียงคุณแม่ เริ่มได้ยินเสียงหัวใจเต้นของคุณแม่ เบบี๋เลยจะเสียงที่เป็น pattern เสียงที่ซ้ำ ๆ จะกล่อมให้เค้าหลับสบาย 25-38 สัปดาห์ หูพัฒนาสมบูรณ์ได้ยินทุกเสียง นอกจากได้ยินเสียงหัวใจแล้วยังได้ยินเสียงระบบอาหาร เวลาคุณแม่ทานอาหาร แล้วอาหารย่อมลูกก็ได้ยิน รวมทั้งเสียงภายนอกอย่างเสียงของคุณพ่อคุณแม่ จะได้ยินโทนเสียงสำเนียงการพูด แต่อาจจะได้ยินไม่ชัด เพราะลูกเราอยู่ในน้ำคล่ำ ก็จะได้ยินเสียงเหมือนเวลาเราอยู่ในน้ำ นอกจากนี้ดนตรีก็ยังช่วยเรื่องอารมณ์ ช่วยให้มีความสุขผ่อนคลาย

.

เสียงดนตรีที่ดีที่สุดคือเสียงของคุณแม่ แนะนำให้ร้องเพลงกล่อมเด็ก เป็นการฝึกคุณพ่อคุณแม่ไปด้วย พอลูกออกมาเราก็ใช้เพลงที่เราฝึกไว้กล่อมเค้าเลยค่ะ หรือถ้าไม่ถนัดร้องเพลงจะอ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่ในท้องเลยก็ได้เช่นกันค่ะ

.

การที่แม่ฟังเพลงจะส่งผลต่อสมองของลูก เช่น Mozart Effect ที่บอกว่าเด็กที่ฟังดนตรีคลาสสิคจะไอคิวดี ปัจจุบันพบว่าการฟังเพลงคลาสสิคอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อไอคิวโดยตรง แต่ก็ช่วยการพัฒนาของสมองโดยรวม ทักษะที่ช่วยแน่ ๆ คือ การฟังและความจำ เพราะมีหลายกรณียืนยันว่าลูกจำเพลงที่เคยฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง

.

สำหรับคุณแม่เพลงที่แนะนำให้ฟังก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิค แต่อยากให้คุณแม่ได้ฟังเพลงที่ชองไม่ว่าจะเป็น หมอลำ ป๊อบ แจ๊ส ได้หมดค่ะ แนะนำให้ฟังเพลงที่ สงบ นุ่มนวล ไม่ฟังเพลงแนว hardcore จนเกินไปค่ะ และเพลงที่คุณแม่ฟังก็มีส่วนในการสร้างรสนิยมในการฟังเพลงของลูกค่ะ

.

คุณปลาเล่าให้ฟังว่าตอนท้องไม่ค่อยได้ฟังเพลง แต่ด้วยลักษณะการทำงานจะเป็นการพูดคุยเยอะ ลูกออกมาก็ไม่ได้ชอบฟังเพลง ไม่ชอบเต้น แต่จะชอบฟังเรื่องเล่ามากกว่า

.

แม้ว่าคุณแม่จะร้องเพลงเพี้ยนไม่ตรงคีย์ก็ไม่ต้องห่วง ยังไงเสียงของคุณแม่ก็ดีที่สุด ร้องไปได้เลยค่ะ อยากให้ปลูกฝังให้ รักดนตรีก่อนค่ะ ถ้าลูกอยากจะเป็นนักร้องจริง ๆ โตขึ้นมาแล้วค่อยมาฝึกฝนได้ค่ะ

.

คุณแม่ควรจะฟังดนตรีนานแค่ไหนต่อวัน สำหรับต่ายไม่ได้แนะนำระยะเวลาที่แน่นอนค่ะ เอาที่คุณแม่สบายใจจะได้ไม่เครียดค่ะ สำหรับคำถามที่ว่าควรจะมีหูฟังไปวางที่พุงไหม ต่ายก็จะแนะนำว่ามีหลายงานวิจัยทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุน ต่ายแนะนำว่าให้เป็นแบแบธรรมชาติค่ะ เพราะธรรมชาติสร้างมาแบบนี้แล้วและก็ไม่เปลืองเงินด้วยค่ะ

.

สุดท้ายอยากฝากว่า เราไม่ต้องเครียดทำตามตำราเป๊ะค่ะ ตำราก็มีหลายเล่ม เอาแบบที่ถูกจริตของเรา ทำแล้วสบายใจก็ให้ทำแบบนั้นค่ะ


#เลี้ยงลูกเล่นดนตรี, #โค้ชต่าย, #Musicparent, #Music, #Parent, #Coaching, #EF, #ดนตรี, #เลี้ยงลูก, #ปรึกษา, #พัฒนา, #StrengthFinder, #ค้นหาพรสวรรค์, #โค้ชแม่ต่าย, #StrengthCoach, #Gallup, #CoachTai

Commentaires


bottom of page