top of page
Search
  • Writer's pictureCoachTai Musicparent

Ep.188 Bully..



เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเด็กประถมฆ่าตัวตายเพราะถูก bully ฟังข่าวแล้วก็ใจหายเพราะอายุของเด็กที่คิดสั้นน้อยลงเรื่อยๆ เลยรีบหยิบหนังสือเล่มนี้ออกมาอ่านค่ะ

.

‘ถึงแม้โลกทั้งโลกจะเฮงซวยและห่วยแตก แต่ถ้าคุณกลับบ้านมาแล้วพบกับคนที่คุณรักและเขาก็รักคุณ ทุกอย่างก็จะผ่านไปได้’ ขอหยิบยกประโยคที่ชอบจากหนังสือเล่มนี้ขึ้นมานะคะ เราสร้างบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ที่ลูกรู้ว่าเค้าสามารถกลับมาได้เสมอ ด้วยการปลูกความรักของเราลงไปในตัวลูกค่ะ เด็กที่มีพ่อแม่รักดูแลอบอุ่นนอกจากเค้าจะมี self esteem แล้ว เค้ายังจะถูกแกล้งและเป็นผู้แกล้งน้อยกว่าค่ะ

.

เมื่อพูดถึงเรื่อง bully มี 3 กลุ่มคนหลักๆคือ ผู้ถูกแกล้ง ผู้แกล้ง และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ได้ทำอะไร เราพูดถึงผู้ถูกแกล้งกันก่อนนะคะ ถ้าเราใส่ความรักและความไว้วางใจกับลูก ลูกจะกลับมาเล่าให้เราฟังได้ทุกเรื่อง ถ้าลูกถูกแกล้งมาเราก็จะช่วยลูกได้ ที่สำคัญต้องอย่ามองว่าการแกล้งกันเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นการหยอกล้อกันขำๆ แค่นี้ลูกจัดการเองไม่ได้หรอ หรือ ลูกไปทำอะไรเค้าก่อนหรือเปล่า เค้าถึงมาแกล้งคืน การกระทำแบบนั้นจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่เค้าใจเค้า คราวหลังก็จะไม่อยากมาเล่าอะไรให้เราฟังอีก

.

สิ่งที่เราสอนลูกได้คือการกลั่นแกล้งจะมีลักษณะ Imbalances of power คือคนแกล้งจะพยายามแสดงอำนาจเหนืออีกคนเพื่อจะได้เอาชนะ ดังนั้นแม้จะรู้สึกแย่กับคำพูดของเพื่อนแค่ไหนจงอย่าแสดงออกให้เขาเห็นว่าเราเดือดร้อน (ลองดูเทคนิคนี้จาก link ด้านล่างนะคะ)


https://youtu.be/7oKjW1OIjuw


.

สำหรับผู้แกล้ง บางครั้งเค้าไม่รู้ตัวนะคะว่าสิ่งที่เค้าทำมันไม่ดี เค้าล้อเพื่อนแล้วมีคนหัวเราะชอบใจ (positive reinforcement) เค้าก็ทำอีกค่ะ หรือบางครั้งผู้ใหญ่ล้อเค้ามาว่าอ้วนดำ เค้าก็นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาจึงนำไปล้อเพื่อนบ้าง หรือในบางกรณีเด็กๆเห็นความรุนแรงจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวก็นำไปทำกับเพื่อนบ้างค่ะ

.

อีกกลุ่มนึงซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่คือเด็กที่เห็นเพื่อนถูกแกล้ง แต่อยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร (bystanders) อาจจะไม่กล้าเข้าไปช่วยเพราะกลัวถูกแกล้งไปด้วย เราจะสอนลูกเราอย่างไรคะในกรณีนี้

.

กรณี bully ที่รวดเร็วและรุนแรงคือ cyber bullying นอกจากนี้ยังเกิดได้ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่ในบ้าน บ้านที่ควรจะเป็นที่ปลอดภัยแค่เพียงเปิดมือถือลูกก็โดนระรานแล้ว เราควรให้ความรู้เรื่อง digital footprint กับลูกว่าสิ่งที่โพสต์ไปแล้วมันจะอยู่ตลอดไปแม้ว่าเราจะลบไปแล้ว เพราะเราไม่มีคงทางรู้ว่าใครแชร์ไปบ้าง ใครแคปหน้าจอไว้บ้าง สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างที่ห้ามลูกทำเด็ดขาดคือ sexting ลูกไม่ควรส่งไม่ว่าจะเป็นคนที่ไว้ใจขนาดไหนก็ตาม หากได้รับก็ไม่ควรแชร์

.

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถปกป้องลูกเราได้ตลอดไป การสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมในวันที่ลูกถูกแกล้งจึงสำคัญ ภูมิคุ้มกันนี้คือการมองเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง จากงานวิจัยคนที่เชื่อมั่นและรับรู้ถึงคุณค่าของตัวเองมี 3 ปัจจัย

1. ความกล้า (courage) กล้าที่จะยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง

2. ความเมตตา (compassion) มีเมตตาและรักตัวเองให้ได้ก่อนที่จะพร้อมไปเมตตาคนอื่น

3. ความจริงใจในการสร้างความสัมพันธ์ (connection) จริงใจกับตัวเอง ไม่เสแสร้งเป็นคนอื่นจนไม่เป็นตัวเอง ไม่พยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น และพ่อแม่ก็ควรจะยอมรับในตัวลูกและไม่พยายามให้เค้าเป็นในแบบที่ ‘เรา’อยากให้เค้าเป็นค่ะ


การดูแลเรื่องการ bully และป้องกันไม่ให้เกิดข่าวเศร้าอีกเริ่มที่บ้านค่ะ และก็ต้องฝากคุณครูด้วยนะคะ เพราะเด็กๆใช้เวลาอยู่ 2 ที่หลักๆคือบ้านและโรงเรียน ผู้ใหญ่รอบตัวเด็กๆต้องไม่มองว่า bully เป็นแค่การหยอกล้อ เราต้องรับฟังเด็กๆ และเราเองก็ต้องไม่เป็นตัวอย่างในการล้อกันเล่นขำๆแบบ bully หรือการใช้ความรุนแรงค่ะ


#เลี้ยงลูกเล่นดนตรี, #โค้ชต่าย, #Musicparent, #Music, #Parent, #Coaching, #EF, #Consultant, #ดนตรี, #เลี้ยงลูก, #ปรึกษา, #พัฒนา

Comments


bottom of page