.
หัวข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ uncomfortable สำหรับหลายคนที่จะคุยกับลูก ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่อยากให้ลูกมาถามเรามากกว่าไปถามจากเพื่อน หนังสือสองเล่มนี้พอจะเป็นแนวทางได้ค่ะ
.
เริ่มต้นจากหนังสือ เรื่อง ‘sex’ ของเด็กวัยรุ่นต้องรู้’ หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เด็กๆเริ่มแยกแยะผู้หญิงผู้ชายได้ตั้งแต่ก่อนเข้าอนุบาลแล้วค่ะ ช่วงประถมต้นเป็นช่วงเราเริ่มอธิบายให้ลูกฟังว่าก่อนลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่ ช่วงวัยรุ่นร่างกายของลูกจะเปลี่ยนแปลง เช่น ลูกสาวจะมีเต้านมใหญ่ขึ้น มีประจำเดือน มีขนขึ้น ลูกชายจะมีเสียงที่เปลี่ยนไป มีขนขึ้น อธิบายให้ลูกรู้ไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติและร่างกายของลูกกำลังจะเปลี่ยนแปลง ต่ายไม่แน่ใจว่าลูกเราจะได้เรียนเรื่องนี้ในโรงเรียนแค่ไหน หลายหลักสูตรมีความแตกต่างกัน แต่ต่ายก็อยากบอกเรื่องนี้กับลูกเอง ถ้าลูกมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย หรือสงสัยในร่างกายเค้า ก็อยากให้เค้ามาถามเราค่ะ
.
ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกอ่านหนังสือเล่มนี้เพื่ออธิบายเรื่องร่างกายก็อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เองก่อนค่ะ จะได้ทราบว่าลูกเรากำลังจะอ่านอะไร และหนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนเกาหลี ซึ่งอาจจะมีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างจากเรานะคะ
.
สำหรับหนังสือ ‘เพศศึกษา กติกาใหม่’ เล่มนี้สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาประมาณวัยรุ่นโดยคุยถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ อธิบาย myth หลายๆอย่างว่าเรื่องไหนจริงไม่จริง เรื่องนี้เขียนโดยสูตินารีแพทย์ชาวอเมริกัน ซึ่งไม่ได้คุยเรื่องการไม่ชิงสุกก่อนห่าม แต่จะเน้นไปที่การมีเพศสัมพันธ์ต้องเป็นเรื่องของการยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมไม่แน่ใจก็ไม่ควรมี การที่เราสามารถพูดคุยถึงความต้องการในการมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างเปิดอกเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งการป้องกันโรคและการตั้งครรภ์ และการมีเพศสัมพันธ์ของเพศเดียวกัน และหากมีการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่พึงประสงค์เช่นถูกข่มขู่ ถูกบังคับควรทำอย่างไร มีหน่วยงานไหนที่ช่วยเหลือบ้าง
.
อีกเรื่องที่โลกยุคลูกของเรามีความหลากหลายทางเพศ LGBT (lesbian, gay, bisexual และ transgender) เราไม่ควรมีทัศนคติลบต่อเพศที่หลากหลาย ถ้าลูกเราเลือกที่จะมีเพศสภาพที่แตกต่างก็อยากจะให้เรายอมรับลูกของเราและเพื่อนๆของลูกเราค่ะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บ้านควรจะเป็นที่ที่ลูกกลับมาได้เสมอค่ะ
.
นอกจากเตรียมว่าอยากจะคุยกับลูกยังไงแล้ว อย่าลืมเตรียมใจกับคำถามที่ unexpected ด้วยนะคะ เช่น ลูกอ่านหนังสือแล้วมาถามว่า sex คืออะไร ซึ่งใน context นี้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ ตอนนั้นลูกอายุ 8 ขวบ เลยตอบไปว่าเป็นการแสดงความรักแบบผู้ใหญ่ ก็อาจจะเตรียมตัวไว้ค่ะ อาจจะมีคำถามที่ unexpected มานะคะ
.
บ้านเราไม่ค่อยคุยกันเรื่องนี้ในครอบครัวอย่างเปิดเผย สำหรับต่าย ต่ายอยากให้เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ลูกมาถามเราได้เหมือนเรื่องอื่นๆ ต่ายอยากให้เค้าได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไป ดีกว่าที่เค้าจะไปค้นหาคำตอบเองจากอินเตอร์เน็ตหรือเพื่อนๆ เพราะเราไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่เค้าได้มาคืออะไร และที่สำคัญสำหรับลูกวัยรุ่น บ้านต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เค้ากลับมาได้เสมอค่ะ
Comments