หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ต่ายเคยอ่านตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก และคิดว่าถ้ามีลูกก็อยากให้ลูกได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ค่ะ เร็ว ๆ นี้ได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง ชอบหนังสือและหนังสือยังสนุกเหมือนเดิม แต่มุมมองและ take away ที่ได้ไม่เหมือนเดิมค่ะ เพราะอ่านด้วยสายตาของแม่และคนที่เคยเป็นครูค่ะ
.
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยคุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ซึ่งเป็นดาราชั้นนำของญี่ปุ่น และได้รับเชิญเป็นฑูต UNICEF หนังสือเล่มนี้เธอเขียนเล่าถึงโรงเรียนประถมที่เธอเคยเรียนค่ะ
.
โรงเรียนนี้น่าจะเรียกได้ว่าโรงเรียนทางเลือก (เมื่อเราเปรียบเทียบกับการศึกษาไทยในยุคนี้) นักเรียนสามารถเลือกเรียนวิชาไหนก่อนก็ได้ตามความสนใจของตัวเอง เพียงต้องเรียนให้ครบทุกวิชาที่กำหนดในวันนั้น (child centered) ห้องเรียนมีขนาดเล็กมากประมาณ 10 คน (1 ชั้นก็มี 1 ห้อง ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 50 คน) และอีกสิ่งหนึ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก ๆ โรงเรียนนี้ คือ มีห้องเรียนเป็นโบกี้รถไฟ เป็นโบกี้รถไฟจริง ๆ ที่เอาที่นั่งออกและจัดให้เป็นห้องเรียน โรงเรียนตั้งขึ้นโดยครูใหญ่โคบายาชิ โซซาขุ ซึ่งเป็นนักการศึกษาและนักดนตรี
.
ครูใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจเด็กเป็นอย่างสูง เช่น วันที่เจอโต๊ะโตะจังครั้งแรก ครูใหญ่ก็นั่งฟังโต๊ะโตะเล่าเรื่องถึง 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ที่โรงเรียนมีเด็กพิการเรียนหลายคน ครูใหญ่ตั้งใจจัดกีฬาสี เป็นกีฬาชนิดพิเศษที่เด็กพิการชนะการแข่งขันเพื่อไม่ให้เด็กมีปมด้อยในความแตกต่าง
.
ที่กล่าวไว้ว่าครูใหญ่เป็นนักดนตรี ครูใหญ่ได้มีโอกาสเรียนวิธีการสอนดนตรีกับ Èmile Jacques-Dalcroze ระหว่างการไปดูงานการศึกษาที่ยุโรป Dalcroze คิดหาวิธีสอนเด็กให้รู้จักดนตรีอย่างลึกซึ้งด้วยความรู้สึกและจิตใจ ซึ่งเป็นการเรียนดนตรีผ่านการเคลื่อนไหว ซึ่งเด็ก ๆ ที่โรงเรียนโทโมเอแห่งนี้มีชั่วโมงเรียนดนตรีหลายอย่างและมากกว่าที่อื่น ชั่วโมงที่เรียนทุกวัน คือ ‘การเรียนประกอบจังหวะ’ ซึ่งคือวิธีการของ Dalcroze นั่นเอง
.
น่าเสียดายที่โรงเรียนนี้เปิดสอนได้เพียง 8 ปี ก็ถูกทำลายในสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 ผู้ปกครองหลายท่านอาจจะสงสัยการศึกษาในแนวทางเลือกว่าเด็ก ๆ ที่ผ่านการศึกษาแนวนี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร คุณเท็ตสึโกะเล่าให้ฟังตอนท้ายของหนังสือค่ะว่าเพื่อนร่วมห้องที่โรงเรียนโทโมเอโตขึ้นมาเป็นอย่างไรกันบ้าง มีทั้งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล เป็นอาจารย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ในสหรัฐ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยไม้ จะเห็นได้ว่านักเรียนที่ผ่านการศึกษาแนวนี้ก็มีอาชีพที่ไม่ต่างกับการศึกษาสายหลัก
.
นอกจากโต๊ะโตะจะมีคุณครูที่เข้าใจในเด็กแล้ว แม่ของโต๊ะโตะก็เลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจ โต๊ะโตะเป็นเด็กซนที่มักจะทำเสื้อผ้าขาด แม่ก็ไม่เคยว่า และตัวอย่างที่สำคัญ คือ จริง ๆ แล้วโต๊ะโตะซนมากจนเคยถูกไล่ออกจากโรงเรียนประถม ก่อนที่จะได้มาเรียนที่โรงเรียนโทโมเอ แม่ไม่เคยบอกโต๊ะโตะเลย แม่เพิ่งจะมาบอกตอนโต๊ะโตะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลองคิดดูนะคะว่าถ้าแม่บอกตั้งแต่แรกโต๊ะโตะคงมีความรู้สึกผิดติดตัวมาตลอดช่วงเวลาเด็ก คุณแม่คงเข้าใจความรู้สึกแบบนี้และบอกเรื่องนี้เมื่อถึงเวลา
.
ชีวิตของเด็ก ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโรงเรียนและครอบครัวนะคะ เราเลือกวิธีปฏิบัติของเราได้ค่ะ และเราเลือกโรงเรียนให้ลูกได้ ที่สำคัญ คือ โรงเรียนที่เราเลือกควรจะเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกับครอบครัวค่ะ
Comentários