หนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงที่พออ่านจบแล้วมีคำถามกับตัวเองว่า เราเลี้ยงลูกแบบเยอะไปไหม
.
ผู้เขียนเป็นคุณหมอที่เป็นคุณพ่อด้วย เป็นคนให้คำปรึกษาพ่อแม่ และเดินทางไปบรรยายให้พ่อแม่ฟังทั่วอเมริกา คำโปรยหลังปก คือ ‘สังคมอันวุ่นวายกำลังก่อสงครามกับวัยเยาว์อย่างเงียบ ๆ ภาวะที่มีข้าวของมากเกินไป มีตัวเลือกมากเกินไป และมีเวลาน้อยเกินไป อาจทำให้ลูก ๆ กลายเป็นเด็กขี้กังวล มีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน หรือกระทั่งถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านพฤติกรรม’
.
เด็กสมัยนี้หลายคนได้รับการวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น ซึ่งบางคนภาวะนี้ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ได้เกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติจริง ๆ แต่มาจากสภาวะแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่มีสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เมื่อปรับสภาวะและการใช้ชีวิตให้เรียบง่ายขึ้น เด็กเหล่านี้ก็มีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา
.
เริ่มจากในบ้านค่ะ บ้านคุณมีของเล่นเยอะเกินไปหรือเปล่าคะ ในบรรดาของเล่นที่เยอะแยะมากมายที่กี่ชิ้นที่ลูกหยิบมาเล่นบ่อย ๆ คะ คุณหมอแนะนำให้ทิ้งของเล่นไปครึ่งนึงเลยค่ะ หาวันจัดบ้านวันที่ลูกไม่อยู่นะคะ หลายคนกลัวว่าลูกกลับมาจะโวยวาย แต่ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าของหายไป กลับดีซะอีกที่มีพื้นที่ว่างให้เล่นได้
.
การจัดของนี้ก็ควรนำมาปรับข้าวของของเราด้วยค่ะ ไม่ควร simplify เฉพาะห้องและของลูก แต่เราควรเป็นตัวอย่าง simplicity ให้ลูกด้วย และการจัดของนี้รวมถึงตู้เสื้อผ้าของเราและลูกด้วย เรามีเสื้อผ้าอัดแน่นตู้ โดยที่ตัวที่ใส่บ่อย ๆ มีอยู่ไม่กี่ตัวหรือเปล่าคะ เลือกเฉพาะชุดที่เราใส่บ่อย ๆ เก็บไว้นะคะ
.
จากนั้นก็ปรับการดำเนินชีวิตให้มีจังหวะ ให้เด็กทราบกิจวัตรประจำวันและสามารถคาดการณ์ได้ถึงกิจกรรมต่อ ๆ ไป (ดูรายละเอียดใน Ep.104 จังหวะของชีวิต) และต่อด้วยการปรับอาหารให้เรียบง่าย อาหารมีไว้เพื่อบำรุงร่างกายไม่ได้มีไว้เพื่อความสนุกหรือตื่นเต้น รสชาติของอาหารไม่ควรจัดจ้านเกินไปซึ่งจะทำร้ายต่อมรับรส และอาหารก็ไม่ควรจะซับซ้อนและมีตัวเลือกมากเกินไป
.
กิจกรรมที่มากเกินไปของเด็กก็เหมือนการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำ ๆ ไม่มีการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อบำรุงดิน เราควรช่วยลูก (และเป็นตัวอย่างให้ลูก) ในการจัดสมดุลชีวิต มีเวลาอยู่กับตัวเอง มีเวลาว่าง ความเบื่อ เป็นของขวัญสำหรับเด็ก เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้เบื่อ
.
และควรจัดให้เด็กได้นอนให้เพียงพอ การนอนเป็นวาล์วระบายความเครียด สำหรับเด็กเล็กการฟังนิทานปลดปล่อยจินตนาการก็ช่วยให้เค้าระบายความเครียดได้
.
เราอยู่ในยุคที่ข่าวสารท่วมท้น และเราก็ควรกรองข้อมูลที่ลูกจะรับรู้ เรื่องบางเรื่องเด็กยังไม่ควรรู้ไม่ต้องดึงเค้าเข้ามาในโลกของผู้ใหญ่ และเด็กสามารถซึบซับอารมณ์ของพ่อแม่ได้ รวมทั้งเราควรจำกัดเวลาดูจอของลูก เด็กเล็กกว่า 2 ขวบไม่ควรดูจอเลยค่ะ
.
สุดท้าย คือ เวลาลูกเป็นไข้ไม่สบาย เราเห็นได้ชัดเจน คอยสังเกตลูกด้วยนะคะว่าเค้าเป็น’ไข้ใจ’หรือเปล่า ลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ถ้าเค้าเป็นไข้ใจ เราก็คอยช่วยดูเค้าได้ โดยให้เค้างดกิจกรรม หาเวลาพักผ่อนเพื่อปรับสมดุลชีวิต อย่าลืมว่าตอนที่เด็กทำตัวไม่น่ารักที่สุด คือ ตอนที่เค้าต้องการความรักจากพ่อแม่มากที่สุด
.
เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านแล้วกระตุ้นให้ลงมือทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงค่ะ
Ep.104 จังหวะของชีวิต
https://www.facebook.com/2201624653226213/posts/2918088821579789/?d=n
Comments