คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเรียนดนตรีมีบ้านไหนที่ลูกไม่ค่อยยอมซ้อมดนตรีไหมคะ เวลาเรียกลูกมาซ้อมก็ยากเหลือเกิน กว่าจะมาได้ก็ลีลาเยอะ
.
วันนี้อยากมาคุยเรื่องจังหวะของชีวิตค่ะ จากการอ่านหนังสือหลายเล่ม ฟังผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงลูก (คุณหมอ คุณครู และผู้ปกครองท่านอื่นๆ) และจากประสบการณ์ของตัวเองคิดว่าการเลี้ยงลูกให้มีจังหวะที่ชัดเจนจะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น และช่วยให้ลูกรู้ว่าจะต้องทำอะไร
.
การเลี้ยงลูกมีจังหวะ คือ การจัดให้มีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน เช่น ตื่นนอนเป็นเวลา ตื่นมาแล้วอาบน้ำแต่งตัว ทานข้าว เตรียมตัวออกบ้านไปโรงเรียน ตอนเย็นกลับจากโรงเรียน ทำการบ้าน มีเวลาออกกำลังและเล่น ทานข้าวเย็น ซ้อมดนตรี อาบน้ำ ฟังนิทาน เข้านอนเวลาเดิมทุกวัน
.
ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นเด็กเราจะรู้เลยว่าพอทานข้าวเย็นเสร็จแล้ว ก็จะถึงเวลาซ้อมดนตรี อาจจะมีอิดออดบ้างแต่รู้ว่ายังไงก็ต้องซ้อมค่ะ ต่ายมองว่าการจัดตารางเวลาให้สม่ำเสมอเป็นการช่วยฝึกวินัยลูก และคนเราจริงๆก็ไม่ได้ชอบการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็จะรู้สึกสบายใจ (comfort)
.
ลองคิดถึงตัวเราเองที่ไปทำงานทุกวันค่ะ เราคงมีงานที่เราแพลนว่าจะต้องทำอยู่แล้ว ถ้าอยู่ดีๆมีงานด่วนเข้ามาแทรก เราก็ต้องจัดตารางการทำงานกันใหม่คงมีความหงุดหงิดใจบ้างไม่มากก็น้อยค่ะ
.
เด็กๆก็เหมือนกันค่ะ ความสม่ำเสมอก่อให้เกิดความไว้ใจ การที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นช่วยให้รู้สึกมั่นคง เป็นบางครั้งที่อาจจะมีกิจกรรมที่ไม่เหมือน routine เด็กก็จะปรับตัวได้ง่ายกว่าค่ะ
.
การจัดจังหวะของชีวิตนี่เริ่มตอนลูกเล็กก็จะง่ายหน่อย หากลูกโตแล้วก็ให้เค้ามีส่วนร่วมในการกำหนดตารางชีวิตของเค้าค่ะ ตารางชีวิตนี่ปรับเปลี่ยนตามช่วงอายุค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราถ้ามีตารางชีวิตก็จะได้ประโยชน์ คือ เราก็จะไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง และที่สำคัญ คือ ถ้าพ่อแม่ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ลูกก็จะทำตามเช่นกันค่ะ
Comentaris