ต่ายรู้จักหนังสือเล่มนี้มาจากห้องเรียนที่อบรมอาสาสมัครผู้ที่จะไปรับฟังผู้ที่สูญเสีย (grief and bereavement care) ผู้ที่สูญเสียที่พูดถึงหลัก ๆ ในหนังสือเล่มนี้ คือ การสูญเสียคนที่รักที่ความตายมาพรากจากไป รวมทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่มีทางรักษา เราจะประคับประคองให้ผู้ป่วย (และญาติ) ใช้ชีวิตอย่างไรไปจนวันสุดท้ายของผู้ป่วย การสูญเสีย (loss) อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดความตาย เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เมื่อเรารู้ว่ามีอาการป่วย และการสูญเสียยังรวมถึงการสูญเสียด้านอื่น ๆ เช่น สูญเสียอาชีพ สูญเสียของรัก เรื่องนี้อาจจะดูไกลตัวสำหรับบางท่าน สำหรับต่ายคำที่ผุดขึ้นมาเลย คือ คำว่า ‘มรณานุสติ’ หรือเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับความตายไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคนที่เรารัก
.
ในหนังสือเล่มนี้ใช้วิธีการจัดการความรู้สึกแนวซาเทียร์ ซึ่งเริ่มต้นจากให้เรา connect กับ ความรู้สึก (feelings) ของตัวเอง การที่เราสามารถระบุ ‘ความรู้สึก’ ของตัวเองได้จะช่วยให้เราเข้าไปถึงภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของเรา (จากทฤษฎี Iceberg Model ถ้าเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็งซึ่งเราจะเห็นยอดโผล่พ้นน้ำนิดเดียว แต่ภายใต้น้ำที่เรามองไม่เห็นนั้นเป็นภูเขาน้ำแข็งลูกใหญ่กว่าส่วนที่เราเห็นมาก) ความรู้สึก จะเป็นคำสั้น ๆ เช่น เศร้า โกรธ โมโห เสียใจ (ถ้าเป็นประโยคยาว ๆ เช่น ฉันรู้สึกว่าเค้าทิ้งฉันไป อันนี้จะเป็นความคิด ไม่ใช่ความรู้สึก) และเราก็อาจจะมีความรู้สึกต่อความรู้สึก (feeling about feelings) ได้ เช่น ผู้ดูแลที่ดูแลผู้ป่วยมาเป็นระยะเวลานานอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ผู้ป่วยได้จากไป ซึ่งก็อาจจะมีความรู้สึกผิดต่อความรู้สึกโล่งใจนี้ได้
.
เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกของเราแล้ว เราจะสามารถค้นหามุมมอง (perceptions) ของเราต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลกได้ รวมทั้งความคาดหวัง (expectations) ของเราต่อตัวเราเอง ของเราต่อคนอื่น และของคนอื่นต่อเรา การช่วยจัดการด้านอารมณ์สำหรับผู้ที่สูญเสีย เราจะช่วยให้เค้าค้นพบกับความต้องการที่แท้จริง (yearning) เพื่อให้เค้า connect กับพลังงานดี ๆ ในตัวเค้าได้ รวมทั้งให้เราช่วยหาสาเหตุหรืออะไรที่ทำให้เค้าออกจากความเจ็บปวดไม่ได้ บางครั้งอาจจะช่วยให้เค้าได้ให้ได้พูดกับคนที่จากไปแล้วจะได้ไม่ค้างคา
.
เวลาไม่ได้เป็นตัวช่วย บางคนอาจใช้เวลาสั้น บางคนอาจใช้เวลายาว สิ่งที่ช่วยให้ก้าวข้ามคือการเกิดการ transform บางอย่างภายใน เหมือนรูปหน้าปกของหนังสือเล่มนี้ถ้ากอดความรู้สึกไว้เราก็จะยังก้าวข้ามไปไม่ได้ แต่ถ้าเราปล่อยไปได้เราก็จะก้าวข้าม ในบางกรณีการจัดพิธีกรรม (ritual) เช่น งานศพก็ช่วยให้เราตระหนักและยอมรับความสูญเสียได้ แต่สำหรับบางคนหลังงานศพก็อาจจะยิ่งเศร้า เพราะช่วงงานศพอาจจะยุ่ง ๆ ไม่ได้มีเวลามาคิดถึง พอจบงานแล้วก็มีเวลามาคิดถึงคนที่จากไป
.
จากบทเรียนในห้องเรียนและจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ key take away อย่างนึง คือ ใน grief (ความเศร้าโศกจากการสูญเสีย) ในนั้นแล้วจะมี ‘ความรัก’ ซ่อนอยู่เสมอ เราคงไม่รู้สึกเศร้าถ้าคนที่เสียไปไม่ใช่คนที่เรารักที่เรามีความผูกพัน ใน grief ก็มี love อยู่ในนั้นค่ะ
.
หลายท่านอาจจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่แก่แล้วหรือญาติผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นแนวทางในการอยู่กับความสูญเสีย และอยากชวนว่าก่อนที่เราจะไปดูแลใคร อยากให้เรา ‘ใจดี’ กับตัวเองด้วยค่ะ ให้โอกาสตัวเองได้เติมพลังให้ตัวเองเพื่อจะเราจะได้มีพลังไปดูแลคนอื่นค่ะ
.
ต่ายมองว่าความตายเป็นธรรมดาของมนุษย์ที่เราทุกคนต้องเจอค่ะ การเตรียมพร้อมช่วยให้เราจากไปได้อย่างสบายใจ ต่ายมองถึงบทบาทแม่ของตัวเอง ถ้าพรุ่งนี้เราต้องหายไป เราได้ทำสิ่งที่อยากทำให้ลูกเราหมดแล้วหรือยัง เราได้วางแผนประกัน แผนการศึกษาให้ลูกแล้วหรือยัง รวมทั้งเรื่องทรัพย์สินหนี้สิน และภาระอื่น ๆ ที่เรายังมีอยู่
.
หนังสือเล่มนี้สามารถหาซื้อได้ที่ shoppee ราคาเล่มละ 9 บาทค่ะ ผู้เขียนอยากให้หนังสือเข้าถึงทุกคนค่ะ
.
และถ้าต้องการผู้รับฟังหรือทราบว่ามีใครต้องการคนรับฟัง ฝากโครงการจิตอาสา ‘ดูแลใจ’ ให้การรับฟังฟรีค่ะ รายละเอียดใน link นะคะ
Comments