ต่ายอ่านหนังสือเล่มนี้กับลูกค่ะ ตั้งแต่หยิบหนังสือเล่มนี้มาก็อยากจะมาเขียนรีวิวมากค่ะ หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบและเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี 2564 หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือในโครงการเด็กสมุดบันทึก ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็ก ๆ มาจากการเขียนบันทึกประจำวันของเด็กชายยูโตะ ฟุคะยะ ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทยญี่ปุ่น ตอนที่เริ่มต้นเขียนยังไม่ค่อยคล่องภาษาไทย เพราะเพิ่งย้ายมาจากญี่ปุ่นตอน 6 ขวบ การเขียนบันทึกประจำวันก็ช่วยให้ยูโตะเขียนภาษาไทยได้คล่องขึ้น
.
เรื่องนี้เริ่มจากยูโตะเขียนบันทึกตอนที่ไปบวชเป็นสามเณรช่วงปิดเทอมที่วัดป่าธรรมอุทยาน โดยเล่าเรื่องผ่านโลกของแมววัดที่ชื่อ ‘นินจา’ รวมทั้งยังเป็นผู้วาดภาพประกอบเองซึ่งก็มีภาพประกอบทุกบท เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ลูก ๆ ของต่ายลุกขึ้นมาเขียนบันทึกประจำวันค่ะ เผื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้บ้านอื่น ๆ นะคะ
.
อีกสิ่งที่น่าประทับใจคือยูโตะจะบันทึกข้อคิด คำสอนที่ได้เรียนรู้ระหว่างการบวช หลาย ๆ คำสอนก็น่าสนใจมากเลยค่ะ ยกตัวอย่างคำสอนที่ต่ายก็ได้ใช้สอนลูกและชวนลูกคิดนะคะ เจ้าแมวนินจาไปพบแมวอีกตัวทำท่าเหมือนเล่นกับลูกเจี๊ยบ แต่ลูกเจี๊ยบทำท่าเหมือนเจ็บ นินจาจึงรีบเข้าไปห้าม แมวอีกตัวจึงรีบบอกว่าเล่นด้วยเฉย ๆ นินจาถามว่าแล้วลูกเจี๊ยบสนุกด้วยไหม ลูกเจี๊ยบก็บอกว่าไม่สนุกและเจ็บ นินจาจึงบอกว่า ‘ถ้าสนุกทั้งสองฝ่ายเรียกว่า #เล่น ถ้าสนุกฝ่ายเดียวเรียกว่า #แกล้ง’ ที่บ้านต่ายพอพี่น้องทำท่าจะแหย่กัน ถ้าแม่ดูแล้วว่ามีคะนึงไม่สนุกด้วย แม่ก็จะพูดขึ้นมาว่า กำลัง เล่น กันหรือ แกล้ง กัน เด็ก ๆ ก็จะนึกถึงเรื่องนี้ได้ค่ะ
.
อีกตัวอย่างนึงคือเรื่องราคาของความสนุกที่หลวงพี่สอนหลังจากที่มีเหตุการณ์มีเด็กซนโยนลูกแมวลงไปในบ่อจระเข้ จึงเหรียบเทียบว่า เด็กบางคนอยากเล่นเกมส์จนโกหกพ่อแม่ว่าทำการบ้านเสร็จแล้ว พอทำการบ้านไม่รู้เรื่องก็ไม่อยากไปเรียนแล้ว ยิ่งเห็นว่าการเรียนน่าเบื่อก็ยิ่งอยากเล่นเกมส์แล้วก็โกหกพ่อแม่อีก นี่คือราคาของความสนุกจากการเล่นเกมส์ที่เป็นราคาที่แพงมาก ดังนั้น ‘ก่อนที่เราจะสนุก ให้ลองคิดดูดี ๆ ว่า เราทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเปล่า ให้ลองคิดว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะส่งผลอย่างไรกับอนาคต มันคุ้มกันหรือเปล่า ถ้าไม่คุ้มก็ไม่ต้องทำ’ เรื่องนี้ก็สอนให้เด็ก ๆ รู้จักราคาของความสนุกและ consequence ค่ะ
.
댓글